AV Comm Thailand

HOME บทความ search :

 

 
  เตรียมตัวก่อนเลือกซื้อโปรเจคเตอร์  

 
          ผมเคยเขียนที่เว็บไซต์ของผมว่าจะไม่เขียนบทความแนะนำการเลือกซื้อโปรเจค เตอร์ เพราะเคยเขียนขึ้นมาหลายรอบแล้วแต่ไม่ได้เรื่อง เนื่องจากทั้งเยิ่นเย้อและสับสน แถมมีบทความทำนองนี้ของคนอื่นที่ผมเห็นว่าใช้ได้ (น่าจะแปลมาจากบทความต่างประเทศ) แต่ AV Comm ยืนยันที่จะให้ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาสำหรับการเปิดตัวของเว็บนี้ ดังนั้นผมจะลองเขียนขึ้นใหม่ แต่จะเป็นแค่ขั้นเตรียมตัวก่อนเริ่มเลือก

1. กำหนดความต้องการ

           ควรกำหนดความต้องการที่เป็นไปได้ ไม่ใช่คุยๆไป ไอเดียเริ่มกระฉูด ต้องการฉายกลางแจ้งกลางวันแสกๆและโปรเจคเตอร์มีขนาดเล็กพอใส่ในกระเป๋า กางเกงได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆกับผมเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว
เมื่อรู้ความต้องการ ต้องมั่นคงไม่วอกแวก พอเห็นลูกเล่นของโปรเจคเตอร์ยี่ห้อหนึ่ง หรือเห็นความสว่างมากๆของอีกยี่ห้อหนึ่ง แล้วเกิดหลงรัก คราวนี้หาเหตุผลที่ต้องซื้อโปรเจคเตอร์ตัวนั้นให้ได้ อย่างนี้เรียกว่า เสียศูนย์
           มีรายหนึ่งซื้อโปรเจคเตอร์ราคากว่า 700,000 บาท เพราะเกิดหลงไหลความสว่างที่ 2700 ลูเมน ( นั่นเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว ) แม้ผมจะแนะนำให้เลือกโปรเจคเตอร์ที่สว่างน้อยกว่า แล้วเอาเงินที่เหลือไปปรับปรุงห้องให้เหมาะสมกับการฉายภาพ ท่านก็ไม่รับฟัง พอครบ 1 ปีเป้งการรับประกันก็สิ้นสุด เครื่องก็เกิดเสีย ค่าซ่อมก็สูงถึงกว่า 5 แสนบาท โรงเรียนมีงบไม่พอ เลยต้องทิ้งโปรเจคเตอร์เครื่องนั้นไปเฉยๆ

2. กำหนดงบประมาณ
           เช่นกันกับวัตถุประสงค์ ไม่ควรวอกแวก ถ้ามีงบฯสูง ปัญหาแทบไม่มี แต่ถ้างบฯน้อยเกินไป อาจต้องไปซื้อโปรเจคเตอร์ที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ถ้าเป็นอย่างนี้คงต้องเสียเงินไปเปล่าๆ น่าจะคืนงบฯไปจะประหยัดกว่า
           ในงาน World Didac Asia 2009 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต อาจารย์ หลายท่านบ่นว่าของแพง ส่วนคนขายก็จะตอบว่า ถ้าอยากได้ของที่ทำงานได้ตามที่ต้องการ ราคาก็จะสูงตามที่เขาได้เสนอไป
           ผมขอนำบทความหนึ่งที่โชว์อยู่ในร้านค้ารายหนึ่งในศูนย์การค้าพันทิพย์ พลาซ่า ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยมีใจความว่า
           “ไม่เป็นการฉลาดที่จะซื้อของที่แพงไปหรือถูกไป หากซื้อของที่แพงไป สิ่งที่เสียคือต้องเสียเงินเพิ่มอีกเล็กน้อย แต่ถ้าซื้อของที่ถูกไป แล้วของที่ได้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ท่านอาจสูญเงินทั้งหมด”

 
   

  3. เลือกยี่ห้อ
           หลายรายชอบถามคนขายว่า ขายยี่ห้ออะไร ยิ่งเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบยี่ห้อยอดนิยมอาจถามว่า ขาย Sony หรือ Panasonic หรือเปล่า ส่วนพวกที่มีความมั่นใจในความรู้ของตน อาจจะขอแค่แคตตาล็อกเพื่อเอาไปศึกษาเอง ผมว่าน่าจะเปิดใจให้กว้างกว่านั้น ให้โอกาสคนขายบอกข้อดีเด่นของยี่ห้อของเขาบ้าง บ่อยครั้งที่ลูกค้าพึ่งจะทราบว่าแท้จริงแล้วเขายังไม่อะไรรู้อีกมาก
           บางยี่ห้อรับประกันหลอดฉาย 6 เดือน ประกันเครื่อง 1 ปี บางยี่ห้อรับประกันหลอดฉายฯ 1 ปี ส่วนตัวเครื่องรับประกัน 2 ปีก็มี 3 ปีก็มี ผมว่า 3 ปีนี่คุ้ม เพราะมีโอกาสที่เครื่องจะเสียอย่างน้อย 1 ครั้ง ในปีที่3

           มียี่ห้อหนึ่งถ้าหลอดฉายเสียใน 30 ชั่วโมงแรก เขาจะไม่รับผิดชอบ ทั้งๆที่ของใหม่โอกาสที่หลอดจะเสียใน100 ชั่วโมงแรกสูง หลังจากนั้นมักไม่พบปัญหาอะไร อีกอย่างเขาก็ไม่ได้แจ้งเงื่อนไขนี้ให้ลูกค้าทราบมาก่อน
           บางยี่ห้อพอใช้ไปประมาณ 500 ชั่วโมง หลอดฉายมืดไปมากจนทนไม่ไหว ผู้ขายก็ยังไม่รับผิดชอบบอกว่ายังใช้ได้อยู่ บางยี่ห้อบริการแย่ กว่าจะซ่อมเสร็จใช้เวลา 3 – 6 เดือน ( ตั้งครึ่งปี )
           ที่ทะเลาะกันบ่อยๆคือ บางยี่ห้อแม้พบว่าของเสียตั้งแต่แกะกล่องก็ไม่ยอมเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ ต้องคอยให้ซ่อมอย่างเดียว กว่าจะได้ของมาใช้ ราคาโปรเจคเตอร์ก็ตกลงไปแล้ว 3,000 – 5,000 บาท และคนขายก็ไม่รับผิดชอบส่วนนี้

4. ให้เลือกผู้ขายด้วย
           เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อหรือผู้ที่ชอบค้นหาสินค้าทางอินเทอเน็ต ชอบที่จะเทียบราคาสินค้ากับยี่ห้อและรุ่น เดียวกัน ที่ไหนถูกที่สุดก็เอาที่นั่น โดยไม่เลือกผู้ขาย ความจริงผู้ขายมีความสำคัญมากเหมือนมีประกัน หากไม่มีปัญหาก็โชคดีไป หากมีปัญหาแล้วผู้ขายนำส่งศูนย์ซ่อมให้ ไม่ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายหรืออยู่ในประกันก็ยังถือว่าโชคดี ที่ท้ายสุดก็ยังได้ของกลับมาใช้
           แต่ในกรณีที่ซ่อมกลับมาแล้วพบว่ายังใช้ไม่ได้ ผู้ขายยังยินดีมารับกลับไปส่งศูนย์ซ่อมอีก คราวนี้ทางศูนย์ซ่อมยืนยันว่าไม่เสีย แต่เมื่อนำกลับมาใช้ก็พบว่ายังใช้ไม่ได้อยู่ดี จะให้ทำอย่างไร โยนทิ้งไปหรือ บางรายมีความจำเป็นมากๆต้องยอมซื้อเครื่องใหม่ อย่างนี้น่าเจ็บใจไหม
           แค่พ่อค้าที่มีความเชี่ยวชาญมากอาจแก้ปัญหาได้ เพราะหลายครั้งปัญหาไม่ได้เกิดจากโปรเจคเตอร์แต่เกิดจากปัญหาอื่น ดังนั้นการเลือกพ่อค้าก็เป็นเรื่องสำคัญ บริการจากผู้ค้าอาจครอบคลุมไปมากกว่าการรับผิดชอบต่อสินค้าที่เขาขายก็ ได้ เช่นมีรายหนึ่งบอกว่าเมื่อก่อนโดนถูกผู้ใหญ่ตำหนิประจำ ว่าให้แก้ปัญหาต่างๆหลายครั้งแล้วไม่จัดการให้เรียบร้อยสักที ทั้งๆที่เขาได้แจ้งให้พ่อค้าประจำรายนั้นให้มาดูแลให้หน่อย แต่ก็ไม่ยอมมาบริการ จะเอาแต่ขายลูกเดียว แต่หลังจากเปลี่ยนผู้ขาย ชีวิตของเขาดีขึ้นมาก บางครั้งปัญหาที่ดูใหญ่โต สามารถซ่อมเสร็จภายในวันเดียว ตอนนี้ผู้ใหญ่ชมเชยว่าเขามีความรับผิดชอบดีมาก


5. เทคโนโลยีการสร้างภาพ

           ผมเคยเขียนถึงเทคโนโลยีสร้างภาพที่ใช้กับโปรเจคเตอร์เช่น LCD LCoS DLP และ GLV เป็นต้น แต่ที่ตั้งหน้าห้ำหั่นกันมีอยู่คู่เดียวคือ 3LCD กับ DLP

           บทความเก่าๆของผมที่ผู้อ่านยังสามารถเข้าไปดูได้ ได้เคยเขียนแก้ต่างให้กับทั้ง 2 เทคโนโลยี เพราะเห็นใจว่าในสภาพการใช้งานจริง สิ่งที่ทั้ง 2 ค่ายต่างสาดโคลนเข้าใส่กันนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาอัตราส่วนเปรียบต่าง(Contrast Ratio) ที่ผมกำลังเตรียมลงที่เว็บไซต์ของผม (www.virasupplies.com )

           ผมอยากให้เทียบภาพที่ฉายด้วยเทคโนโลยีทั้ง 2 แล้วดูว่าชอบแบบไหน ผมเองชอบแบบหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่กล้าแสดงความเห็น เพราะเห็นว่าเพียงบทความนี้อย่างเดียว ผมอาจสร้างศัตรูกับหลายๆคนเลยก็ได้ ( อย่างนี้เรียกว่า ปากไม่ดี )

           เรื่องความชอบของแต่ละคนนั้น ผมไม่กล้าเข้าไปโน้มน้าวให้ใครเห็นคล้อยตามผม ในเมื่อคนที่ชอบ 3LCD และคนที่ชอบ DLP นั้นมีจำนวนไม่ต่างกันมากนัก ความแตกต่างระหว่าง 3LCD และ DLP พอจะเทียบได้กับสีโปสเตอร์กับสีน้ำมัน ที่สวยไม่เหมือนกัน

6. ของแถม
           เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นความเห็นส่วนตัวสักหน่อย นานมาแล้วมีโปรเจคเตอร์ยี่ห้อหนึ่งจัดโปรโมชั่นด้วยการแถมจอสำหรับภาพฉาย ชนิดติดผนัง/แขวนเพดาน ม้วนเก็บด้วยสปริงขนาด 70” X 70” จนเป็นที่ถูกใจของผู้ซื้อ เล่นเอายี่ห้ออื่นต้องทำตาม ลงท้ายลูกค้าเองเป็นฝ่ายเรียกร้องให้แถมจอฯ

           การขายโปรเจคเตอร์แถมจอฯนี้ ผู้ขายจะได้กำไรลดลงจริงๆ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น กำไรก็น้อยอยู่แล้ว ดังนั้นผมจะไม่โจมตีผู้ขายว่า บวกราคาค่าจอฯ เข้าไปด้วย หรือบังคับให้ซื้อโปรเจคเตอร์แล้วต้องซื้อจอพ่วง

           การเน้นของแถมนี้ ผู้ขายจงใจให้ผู้ซื้อโปรเจคเตอร์ เลือกเฉพาะยี่ห้อของเขา ซึ่งอาจทำให้ได้ของที่ไม่ตรงตามความต้องการ อีกประการหนึ่งจอฯ ขนาด 70” X 70” นี้เมื่อเทียบกับขนาดอื่นแล้วมีราคาถูกที่สุด เขาถึงแถมมา

           แต่ผมไม่อยากแนะนำให้ใช้จอฯขนาด 70” X 70” เท่าไหร่ เหตุผลเพราะ ห้องเรียนแทบทั้งหมดสามารถฉายภาพได้ใหญ่สุดถึง 120” รวมทั้งโปรเจคเตอร์ในปัจจุบัน รุ่นที่มีราคาต่ำสุด ก็สว่างพอที่จะใช้ได้กับจอฯขนาด 120” แล้ว

           เมื่อเอาจอฯที่แถมมาขนาด 70” X 70” มาใช้ ขนาดภาพที่ฉายขึ้นไปจะได้ใหญ่สุดพียง 87” ( เว้นแต่ผู้ใช้ต้องการภาพขนาดนี้) บางรายซื้อโปรเจคเตอร์ความสว่าง 3000 ANSI ลูเมน แต่ใช้จอฯที่แถมมาขนาด 70” X 70” อย่างนี้น่าเสียดายของมากๆ

           เมื่อมีการแถม จอฯสำหรับภาพฉาย แถมปริ้นเตอร์ หรือแถมกล้องดิจิตอล หากผู้ซื้อไม่เอาเขาจะลดราคาให้ดังนี้

           จอฯ ลดลง 500 - บาท

           ปรินเตอร์ ลดลง 500 - บาท

           กล้องดิจิตอล ลดลง 1,000 - บาท

           ซึ่งนับว่าน้อยมาก ทำให้หลายคนต้องเก็บของแถมพวกนี้ไว้อย่างค่อนข้างจำใจ อย่างไรก็ตาม ผมขอให้ผู้ที่จะซื้อโปรเจคเตอร์อย่าให้น้ำหนักกับของแถมมากเกินไป

           เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ฟังรายการวิทยุที่ดำเนินรายการโดย อาจารย์ธวิพล สุวรรณผ่อง (ขออภัยหากสะกดชื่อและนาสกุลผิด) ในรายการเกี่ยวกับรถยนต์ เขาเองก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเลือกซื้อรถเพราะอยากได้ของแถมเช่น สร้อยคอทองคำ เมื่อผู้ร่วมดำเนินรายการบอกว่าบางครั้งของแถมก็เป็นของที่มีประโยชน์กับรถ ยนต์ อาจารย์ท่านก็ไม่เห็นด้วย ท่านว่า ไม่มีใครให้ของแถมเช่น พรมปูพื้นดีๆ ส่วนใหญ่จะให้ของถูกๆ ซื้อรถราคาเป็นล้านแล้วมาให้น้ำหนักกับของราคาไม่เท่าไหร

7 เตรียมตัวก่อนไปทดลองของจริง

           หากท่านต้องการไปดูโปรเจคเตอร์ ขอให้วัดความสูงของจอฯที่จะใช้และระยะระหว่างจอฯกับผู้ชมแถวหน้า เวลาไปให้หาเพื่อนที่มีความรู้ด้านภาพจริงๆไปด้วย และที่สำคัญกว่านั้นชวนคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไปด้วย เวลาชมให้ยืนห่างจากจอฯ ในอัตราส่วนเดียวกับที่วัดได้ในห้องประชุมของท่าน บางคนเมื่อไปดูของชอบยืนชิดจอฯ แต่ถ้ายืนดูในระยะเดียวกับที่แนะนำไว้ ภาพที่ดูคมกว่าในระยะประชิดอาจดูไม่แตกต่างจากโปรเจคเตอร์ที่ภาพคมน้อยกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ ผมถือว่าคะแนนเท่ากัน
เมื่อกลับมาแล้วให้สอบถามคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ว่าเขาเห็นเป็นอย่าง ไร ที่ให้ทำอย่างนี้เพราะในการใช้งานจริง ผู้ชมส่วนใหญ่จะไม่ใส่ใจกับรายละเอียดปลีกย่อยของภาพที่ฉายมากนัก เมื่อเป็นอย่างนั้น เราไม่ควรให้น้ำหนักกับปัญหานี้มากเกินไป

8. ตัดสินใจซื้อแต่เนิ่นๆ

           การไม่ตัดสินใจซื้อก่อนการใช้จริงแต่เนิ่นๆ จะมีผลไม่ค่อยดีบางประการ
           1. ของที่อยากได้เกิดขาดตลาด แต่เวลาใช้งานกระชั้นรอไม่ได้ เลยต้องยอมซื้อของที่แพงกว่านั้นหรือด้อยกว่านั้นแทน            2. ไม่มีเวลาซ้อมงานพรีเซ้นก่อนวันงานเพียงพอ           3. ในที่สุดอาจไม่ได้ของมาใช้ เพราะอาจติดขัดโน่นนี่ เช่นเงินหมดก่อน อะไรทำนองนั้น หลังจากซื้อไม่ทันใช้งาน ความกระตือรือร้นที่จะซื้อก็จะพลอยเหือดหายหมดไป พองานต่อไปก็เร่งๆจัดซื้อ แล้วก็ซื้อไม่ทันเช่นเดิม เป็นอย่างนี้ไปหลายปี ในที่สุดก็เลิกคิดที่จะซื้อโปรเจคเตอร์ แล้วใช้วิธียืมของคนอื่นยันป้าย

           เรื่องต่อไปนี้ขอให้ใช้เป็นเพียงข้อสังเกตุ ผมไม่ขอยืนยัน เพียงแต่ให้ระมัดระวังเมื่อซื้อโปรเจคเตอร์จากผู้ขายเหล่านี้
           1 ผู้ค้าโปรเจคเตอร์ที่โฆษณาว่า มีโปรเจคเตอร์ใหม่ให้เช่าในราคาถูก เพราะเขาอาจนำเครื่องที่เอาไปให้เช่ามาขายให้กับท่านก็ได้
           2 ผู้ค้าโปรเจคเตอร์ที่ฉายโชว์ในร้านตั้งแต่เปิดร้านตลอดทั้งวันจนปิดร้าน หากเขายังขายไม่ได้แต่ชั่วโมงการใช้หลอดฉายครบ 200 ชั่วโมงแล้ว เขาจะนำกลับไปบรรจุในกล่องอย่างเดิม แล้วนำเครื่องใหม่มาฉายแทน หากใครมาซื้อ เขาก็จะนำเครื่องที่ฉายครบ 200 ชั่วโมง (เท่ากับ 10% ของอายุหลอดฉาย) มามอบให้ท่าน
           3 บางครั้งผู้ขายที่ตั้งโปรเจคเตอร์เป็นแถวแล้วฉายโชว์ในห้างของเขา เขาจะปรับภาพทั้งหมดให้ดูเหมือนกันหมด เมื่อผู้ซื้อไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ ในที่สุดเลยเลือกซื้อเครื่องที่มีราคาต่ำที่สุด บางแห่งเขาจะปรับแต่งภาพโปรเจคเตอร์รุ่นที่เขาต้องการเชียร์ ให้สวยที่สุด ส่วนเครื่องอื่นทำให้ดูด้อยลง ผู้ซื้อก็จะเลือกเอาเครื่องที่ฉายภาพได้สวยที่สุด
           4 บางรายใช้จอสำหรับฉายภาพที่สว่างเป็นพิเศษกว่า จอฯทั่วๆไป คนที่มีประสบการณ์เท่านั้นถึงจะพอสังเกตุได้ เมื่อซื้อกลับมาฉายที่โรงเรียนไหงไม่สว่างอย่างที่เห็นในโชว์รูม
           5 การได้รับคำแนะนำจาก PC (แปลว่าอะไรผมไม่ทราบ ถามเจ้าตัวก็ไม่รู้ น่าจะมาจากคำว่า Product Consultant) ประจำยี่ห้อ ท่านต้องระมัดระวังให้มากหน่อย
เพราะเขาได้เงินเดือนเพียงเล็กน้อย ต้องอาศัยรายได้เพิ่มจากจำนวนการขาย ผมพบว่าพวกนี้จะเชียร์แต่สินค้าของเขาอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่ยอมเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อได้รับฟังข้อดีของยี่ห้ออื่นบ้าง

           บทความนี้ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ อาจมีขาดตกบกพร่องอีกมาก ซึ่งตอนที่เขียนนึกได้แค่นี้ หากใครมีประสบการณ์ดีๆ กรุณาส่งบทความของท่านมาร่วมกับเรา แล้วเราจะมีของหรือเงินสมนาคุณ

OEM
           ย่อมาจาก Original Equipment Manufacture คือ เอาของยี่ห้ออื่นมาติดตรงของตนเอง ความจริงปัญหานี้มักพบกับการออกสเป็คจัดซื้อของหน่วยงานราชการที่ใช้กีดกัน ยี่ห้ออื่น สินค้า OEM ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี ผมเองยังชอบขายโปรเจคเตอร์ OEM อยู่ 2 ยี่ห้อ เนื่องจากบริการดีกว่าผู้ผลิตโดยตรง จึงแนะนำผู้ซื้อว่าไม่ควรนำเรื่องนี้ มาเป็นปัญหา SONY PANASONIC เองก็มีสินค้า OEM อยู่ไม่น้อย แต่พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่เขาขาย ไม่อยากนั้นจะเสียยี่ห้อหมด


เลือกผู้ขาย
หลายครั้งผมอยากโทษผู้ซื้อมากกว่า ขอยกตัวอย่างถึงจะเห็นได้ชัดเจนกว่า

           หลายปีมาแล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงข่าวเตือนผู้ที่ไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ ในศูนย์การค้าพันทิพย์พลาซ่าว่า หากไปต่อราคาแล้วจะโดนเอาของไม่ดีมาให้ อาจเป็นไปได้ว่าผู้เสียหายมีสายสัมพันธ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เมื่อรู้ว่าโดนโกง(ผมไม่แน่ใจว่าเขาถูกโกง) เลยให้หนังสือพิมพ์ช่วยประจานให้

           ผมเคยอยู่ในศูนย์การค้าพันทิพย์พลาซ่าและเคยพบเห็นผู้มาช็อปที่อยากได้ อะไรมากๆในราคาถูกที่สุด เดินต่อรองราคาทั่วทั้งตึก บางร้านก็ถูก ต่อรอง 5-6 รอบ เชื่อไหมว่าการทำอย่างนั้นเขาได้ของเลวครบเครื่อง อาจเป็นของตกรุ่น เทคโนโลยีเก่า อาจเป็นฮาร์ดดิสก์ความจุสูงแต่ทำงานช้าเป็นต้น เสร็จแล้วมาโกรธคนขายทั้งๆที่น่าจะโกรธตนเอง บางคนมาบ่นเรื่องงานติดตั้งโปรเจคเตอ์ที่ไม่เรียบร้อย ความจริงเขาไม่น่าบ่นเพราะ ผู้ติดรายนั้นคิดค่าติดตั้ง 5,000 บาท ขณะที่อีกรายคิด 6,500 บาท เขาจึงไม่ควรหวังว่างาน 5,000 บาท ต้องดีเท่ากับงาน 6,500 บาท เพราะถ้าอย่างนั้นราบที่คิด 6,500 บาทก็จะอยู่ไม่ได้

           มีอยู่รายหนึ่งเดินเข้ามาเอ็ดตะโรหาว่าผมหลอกลวง เขาหาว่าผมได้แนะนำสินค้า ซึ่งจริงๆแล้วทำไม่ได้ตามที่ผมอ้าง ผมเลยถามเขาว่า เขารู้ได้อย่างว่าทำไม่ได้ทั้งๆที่ยังไม่ได้ซื้อเลย เขาบอกว่าเขาได้ซื้อแล้วจากรายอื่นถึงได้รู้ว่า ทำงานไม่ได้ตามที่ผมอ้าง

           ผมเลยเตือนความจำเขาว่าครั้งนั้นผมได้สาธิตให้ดูว่าทำได้ จึงไม่ควรมาตำหนิผม เขาเลยบอกว่าแต่ร้านที่เขาซื้อทำไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องบริการให้เขา

           ผมจึงบอกว่าเขาไม่ใช่ลูกค้าของผม และผมบริการเฉพาะลูกค้าของผม ไม่ใช่ต้องไปบริการให้ลูกค้าร้านอื่น เขาจึงด่าว่าผมเป็นพ่อค้าที่เลว ที่รู้วิธีการแก้ปัญหาแล้วผมไม่ช่วย ผมเลยขอให้เขาไปด่าผู้ที่ขายให้เขาไม่ใช่มาด่าผม
 

 

ลงเมื่อ : 10-7-2011
เขียนเมื่อ 12-7-2010


บทความอื่นๆ